Tuesday, April 5, 2011

เป็น (ทิชชิ่ง) โปรกับเขาเสียที……

ขอบพระคุณท่านผู้อ่านทั้งหลายอีกสักครั้งที่ Blog ของผมมียอดคลิ๊กเกิน 100,000 หน้า ชีวิตนี้ก็ยังต้องเรียนรู้กันอีกเยอะ ทำไป เรียนรู้ไป บางสิ่งบางอย่างก็เป็นครั้งแรกซึ่งแม้แต่ตัวผมเองก็มองว่าไม่น่าจะรอด แต่ก็ผ่านพ้นการทดสอบครั้งสำคัญของชีวิตมาได้ ไม่คิดว่าจะมีวันนี้เหมือนกันทั้งที่ผมก็เริ่มหมดไฟไปแล้ว อะไรที่ทำให้หมดไฟก็น่าจะเป็นเพราะก๊วนที่เล่นเดิมพันเริ่มหายาก โทรหาใครก็ไม่มีใครว่างก็เลยเล่นแบบไปวันๆ เป็นเวลาปีกว่าๆ จากนั้นก็เริ่มห่างจากการซ้อมทั้งที่เข้าสนามไดร์ฟเกือบทุกวัน จำนวนวันที่ซ้อมเหลือแค่อาทิตย์ละวัน เพราะไม่รู้ว่าจะซ้อมไปทำไม

เคยไปเล่นรายการของมือสมัครเล่น Swing Championship Tour 2008 และก็ได้ Winner Of The Year Flight A เมื่อเดือนมกราคม 2009 จนเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ไม่น่าเชื่อว่าเกือบได้รองแชมป์ไฟทล์บี โดนเพื่อนร่วมก๊วนกระซวกซะไส้แตก ไม่มากหรอกครับแค่ 11 หลุมเอง ก็หมดตูดกลับบ้านซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็เกิดไม่กี่ครั้งในการเล่นกอล์ฟที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่าผมแพ้แต่ไม่ยอมแพ้

เมื่อผมถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง อะไรเป็นแรงบัลดาลใจให้ผมไปสอบโปรกับเขา จริงๆ แล้วก็ไม่ได้อยากเป็นหรอกครับ แต่เมื่อผมปรึกษาผู้ใหญ่ที่เคารพ, โปร, และเพื่อนๆ พี่ๆ ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

 “เองน่าจะมีเพดดีกรีกับเขาบ้างนะ”

แต่ผมก็มีความรู้สึกขัดแย้งอยู่ในตัว ทำไมมือสมัครเล่นอย่างผม เขียนอะไรไปคนเขาไม่เชื่อถือเหรอ มันน่าจะต้องทำได้ แต่สุดท้ายผมก็ต้องยอมรับว่าผมไม่ได้อยู่คนเดียว ยังมีสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวผม การมีโปรไฟล์ที่ดีเพื่อรองรับความน่าเชื่อถือก็เป็นสิ่งจำเป็น อีกเหตุผลหนึ่งคือผมไม่ชอบคือใส่กางเกงขายาวเวลาออกรอบด้วยครับ

สอบ GI ครั้งเดียวให้ผ่านทำยังไง?
ก่อนอื่นก็ต้องเป็นนักกอล์ฟมือแต้มต่อตัวเดียว ที่จะมีโอกาสผ่านสูง แต่ผมไม่มีประสบการณ์ในการสอบซึ่งก็เป็นการยากเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน แต่หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างผมก็สอบถาม เพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นโปร ถามทุกอย่างที่จะเจอ การซ้อมหรือออกรอบนั้นให้ยืนแท่นหลังสุด ในระยะแรกๆ ของแต่ละสนามสกอร์ของผมก็อยู่ประมาณ 40-45 ต่อรอบ เพราะไม่ค่อยได้ซ้อมและทดสอบอุปกรณ์กอล์ฟอย่างเดียวคือตีเอามันส์ อย่างอื่นไว้ค่อยว่ากันทีหลัง สิ่งต่างๆ ด้านล่างนี้คือความจำเป็นที่ท่านควรคำนึงถึงให้มากที่สุด

การเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสม
เมื่อมองถึงความเป็นจริงไม่ได้ตีเพื่อความมันส์แต่เป็นการมองถึงความเป็นไปได้ การแบกน้ำหนักรวมมากเกินไปมีผลต่อพละกำลังในการออกรอบเป็นอย่างยิ่ง เป็นสิ่งที่ท่านควรมองถึงความสำคัญเหล่านั้น เพราะในการสอบโปรนั้นไม่ได้เดินแค่สองวันภายในเวลาที่กำหนด ไม่มีเวลานั่งพักแน่นอน และก่อนหน้านั้นต้องเดินซ้อมกันอีกกี่รอบต่อกี่รอบแล้วการซ้อมในสนามไดร์ฟวันละอีกกี่ถาด ร่างกายจะต้องมีความฟิตที่ถึงจริงๆ ผมก็มีอาการบอบช้ำ อาการไม่มีเรี่ยวแรงเพราะการซ้อมที่หนักเกินไปนั่นก็เกิดขึ้น

การฝึกซ้อม
เนื่องจากผมก่อนนั้นก็เล่นกอล์ฟแล้วก็นั่งรถคาร์ทบ่อยมาก แต่ถ้าวันไหนได้เดินความแตกต่างของสกอร์มันเกิด พูดกันง่ายๆ ว่านั่งรถจนนิสัยเสีย ความฟิตของร่างกายไม่มี ความเร็วหัวไม้หดหาย ตีเหล็กก็ไม่ได้เรื่องจากจุดแข็งเป็นจุดอ่อน แต่สิ่งที่ผมได้รับจากการตีเหล็กเบี้ยวซ้ายทีขวาที มันทำให้ผมตกบังเกอร์บ่อยมาก การระเบิดทรายของผมจึงเป็นเรื่องจิ๊บๆ ขึ้นแน่นอน อยู่ตรงไหนช่างมัน

เมื่อตัดสินใจว่าจะไปสอบก็เริ่มเข้าสนามไดร์ฟตั้งแต่ 11.00-14.00 น. ในเดือนมกราคม เทมโปรกับไทม์มิ่งมั่วไปหมดจับจังหวะไม่ได้เพราะขาดการฝึกซ้อมมานาน จึงเป็นการเรียกความฟิตกลับคืนมาในเดือนแรก ฝึกการปะทะลูกอย่างเดียวหรือ Punch shot จะต้องตีให้เข้า Sweet spot ก่อนแล้วอย่างอื่นไว้ค่อยว่ากัน และพอเดือนที่สองเข้าสนามไดร์ฟตั้งแต่ 11.00-15.30 น. จังหวะของมันก็เริ่มมา เปรียบเหมือนกับการเปิดร้านอาหาร ณ วงสนทนาผมได้ร่วมพูดคุยกับพี่บุญ เจ้าของร้านไก่ย่างกลางบึง อดีตแกเป็นเชฟมือทองของบึงวาปี ช่วงที่พีคที่สุดของร้านสามารถทำยอดขายได้ถึงสามวันล้านแต่ตอนนี้ได้ปิดไปแล้ว ผมก็เริ่มยิงคำถาม…..

“พี่ครับ หัวใจของการทำร้านอาหารแล้วทำให้คนติดคืออะไร ?”

ในการทำร้านอาหารให้คนติดนั้นจะต้องมีรสชาตที่อร่อยและเหมือนเดิมทุกครั้งและจะต้องคัดเลือกวัสดุดิบเกรด A ซึ่งก็เปรียบเหมือนวงสวิงจะต้องทำให้ได้เหมือนเดิมทุกครั้งนั่นเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แล้วอะไรอร่อยที่สุดในร้าน ก็ต้องเป็นไก่ย่างหนังกรอบซึ่งแกใช้เวลาทดลองอยู่ 6 เดือนกว่าๆ เริ่มแรกหมักไก่ไว้ข้ามคืนแล้วนำมาย่าง ผลที่ได้คือไก่นุ่มเกินไปกินแล้วไม่อร่อย และก็ทดลองไปเรื่อยๆ ลดจำนวนชั่วโมงในการหมักซึ่งก็มีการจับเวลาควบคู่กันไปด้วย สรุปก็ใช้เวลาหมัก 4 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้เครื่องเทศซึมเข้าเนื้อไก่อย่างพอดีและตอนที่เสริฟนั้นจะได้รสชาตที่ดี หมายความว่าเมื่อหมักนานกว่า 4 ชั่วโมงรสชาติอร่อยแต่กินแล้วเลี่ยน กินเยอะก็ไม่ได้ จะทำยังไงให้ขายได้เยอะขึ้นก็จึงลดเวลาการหมัก ผลจากการหมัก 4 ชั่วโมง ผมสามารถกินคนเดียวได้ 3 จาน แต่การหมัก 1 ชั่วโมงเครื่องเทศไม่ได้ซึมเข้าเนื้อก็ใช้ไม่ได้

ก่อนถึงวันสอบในหนึ่งอาทิตย์
วันอังคารไปออกรอบที่สนามช่วงเวลา 10.30 น. วันพุธซ้อมที่สนามไดร์ฟประมาณ 6 ถาด ส่วนมากจะช้อม Pitch ในระยะ 20 30 หลา จนถึงเวลา 16.00 น. แล้วก็กลับมาทำงานประจำต่อ วันพฤหัส ตื่นตั้งแต่ตี 5 ไปออกรอบที่สนามช่วงเวลา 08.00 น. วันศุกร์,เสาร์ เข้าสนามไดร์ฟอีกครั้ง วันอาทิตย์ไปออกรอบสนามอื่นกันเบื่อ การไปเดินออกรอบทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่ายนั้นจะทำให้รู้ว่าลมในตอนเช้ากับตอนบ่ายนั้นต่างกันมากที่หลุมเดียวกัน

วันจันทร์ เข้าสนามไดร์ฟซ้อมเบาๆ บ่ายเดินทางเข้าที่พักที่สนามเริ่มหัวถึงหมอนตั้งแต่สองทุ่มเป็นต้นไป แต่อาการตื่นเต้นก็เกิดเหมือนกันเพราะผมตื่นนอนตอนเที่ยงคืน แล้วค่อยงีบหลับจนถึงตีห้า ตื่นขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัว ไปทานอาหารเช้าแล้วไปถึงสนามไดร์ฟตอน 06.00 น. สั่งลูกแค่ถาดเดียวพออย่าซ้อมเยอะแค่ยืดกล้ามเนื้อเป็นใช้ได้ ซ้อม wedge ประมาณ 20 ลูก เหล็กสั้น เหล็กยาว Utility Fairway Driver เอาอย่างละ 5 ลูก ก็พอ ตีไม่ตรงก็ช่างมัน แล้วก็ไปซื้อกรีนฟีกับแคดดี้ จากนั้นไปรับ ตำแหน่งธง ลงชื่อว่าท่านใช้ลูกอะไรในการสอบ ผมใช้ Titleist Pro V1 ก็ลงไปตามนั้น จากนั้นก็ไปซ้อมพัตต์พอประมาณ






สิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมประกอบไปด้วยสภาพสนาม แคดดี้ เพื่อนร่วมก๊วน กรรมการ และอื่นๆ ที่ยังนึกไม่ออกแต่สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีความสำคัญต่อผลการสอบเป็นอย่างมาก

สนามที่ใช้ในการสอบครั้งนี้คือสนามวอเตอร์มิลล์ ซึ่งผมได้ไปเดินออกรอบอยู่ 7 รอบตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จึงพอจะวางแผนการตีในแต่ละหลุม บางหลุมการใช้ไดร์ฟเวอร์อันตรายมากเช่นหลุม 17 ระยะแท่นหลังสุดอยู่ที่ 396 หลาและทวนลม ซึ่งการพลาดซ้ายหรือขวามีสิทธิ์ลูกหายได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นหลุมนี้ผมต้องการแค่โบกี้ ผมจึงออกแค่ไม้ 4 ซ็อตสองจึงขึ้นประมาณ 190 หลาทวนลม ซึ่งก็ตีสองออนทั้งสองวัน บางหลุมก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไดร์ฟเวอร์เสมอ การวางแผนในแต่ละหลุมจึงมีความจำเป็นมาก หรือพาร์ 4 สั้นก็อย่าประมาทเพราะในวันซ้อมหลายๆ วันที่ผ่านมาได้ทั้งพาร์และเบอร์ดี้ แต่พอวันสอบจริงก็ได้โบกี้ทั้งสองวันอีกเหมือนกัน กรีนจะมีการตัดบดน่าจะราวๆ ตีห้าวันแรก สปีดกรีนก็ยังไม่เร็วเท่าไหร่ พอวันที่สองสปีดก็เพิ่มขึ้นจากการตัดบดทุกเช้า ส่วนวันที่สามที่สี่ผมไม่มีประสบการณ์ครับ

แคดดี้ ควรเลือกแคดดี้ที่พอจะไปด้วยกันกับท่านได้ ผมเน้นเรื่องการมีทรรศคติที่ดี เดินตามทัน ต้องดูลายเป็นหรือไม่นั้น ไม่มีความจำเป็นสำหรับผม เพราะผมดูลายของผมเองตลอด เพราะถ้าถามแล้วตอบผิด ท่านอาจจะหงุดหงิดไปอีกหลายหลุม ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนให้มากที่สุด แคดดี้ผมเบอร์ 113 แกชื่อเมี่ยง ผมก็ล้อแก “ป้าตาสั้นและหูตึงนะ” แกก็ได้แต่ยิ้มๆ เพราะ ”นายก็เบ๊อะบ๊ะเหมือนกัน” เมื่อในวันสอบวันแรกมาถึง และใกล้เวลาที่จะทีอ๊อฟ ผมลืมซื้อกรีนฟีและค่าแคดดี้ จึงขอยืมแกก่อน รายละเอียดปลีกย่อยเหล่านี้บางทีก็คาดไม่ถึงเหมือนกัน

เพื่อนร่วมก๊วน จากการสอบถามเพื่อนๆ ที่เป็นโปรกันมา เพื่อนร่วมก๊วนมีอิทธิพลต่อการสอบเป็นอย่างมาก ถ้าเจอมาร์คเกอร์ที่ค่อนข้างเข้มงวด ท่านก็จะหงุดหงิดไปด้วยเหมือนกันแต่ผมโชคดีทั้งสองวันในการสอบที่ได้มาร์คเกอร์ที่ดี วันแรกคนที่เป็นมาร์คเกอร์ให้ผมคือพี่ทรรศ หรือ Agine แห่ง Thaigolfer และวันที่สองคือน้องโอ คราวหน้าเอาใหม่นะครับพี่ เคล็ดลับสำหรับเรื่องนี้ให้ทำตาสั้นหูตึงเข้าไว้ ถ้าไม่มั่นใจเรียกกรรมการดีที่สุด

กรรมการ เป็นใครก็ไม่ให้เข้ามาอยู่ใกล้ ถ้ามาเมื่อไหร่และขับรถอย่างช้าๆ แสดงว่าท่านได้เล่นช้าแล้ว และถ้าขับรถเข้ามาหาท่านและเตือนท่านเมื่อไหร่แล้วหล่ะก็ เตรียมตัวไว้ว่าตัวท่านถูกจับเวลา อาการรนก็จะออกทันที เคล็ดลับสำหรับเรื่องนี้ก็ก่อนทีอ๊อฟ ผมก็ร่วมพูดคุยกับพี่ๆ ว่าไม่ต้องมีออนเนอร์นะครับ เพราะเป็นห่วงเรื่องเวลาซึ่งทุกท่านก็ตอบรับกันด้วยดี

รู้กฎ ลดสกอร์
เมื่อครั้งที่อบรมกฎที่ผ่านมา ระหว่างนั่งฟังอาจารย์บรรยายบางช่วงบางตอนก็เผลองีบสักนิด ท้ายชั่วโมงก็มีการสอบ ข้อสอบทั้งหมดมี 50 ข้อ ซึ่งผมทำถูกแค่ 37 ข้อ ก็คิดๆ อยู่เหมือนกันเพราะจะประกาศผลอีก 5 วันถัดไป ถ้าสอบไม่ผ่านก็คงจะขายขี้หน้าน่าดู ตายตั้งแต่ยกแรก(ฮา) แต่ไม่ต้องไปกังวลกับมันเพราะจะมีการสอบซ่อมกันทีหลัง ก่อนสอบภาคสนาม อ่านกฎต่างๆ ไว้ก่อนก็จะดีมาก สำหรับการไปสอบครั้งนี้ผมเสียดายเพื่อนรุ่นน้องที่ไปซ้อมด้วยกันอยู่หลายรอบ ทั้งที่วงสวิงและฝีมือเหนือกว่าผม วันแรกสกอร์เกิน 10 แต่พอวันที่สอง พาร์ 3 หลุม 3 ดันไปออกตั้ง 8 เพราะลูกดันไปติดอยู่ขอบบังเกอร์ซึ่งทำให้ตียังไงก็ลำบากหลุมนั้นก็เลยตีตั้ง 8 ทีสำหรับหลุมพาร์ 3 ถือว่าเลวร้ายมาก ถ้าเล่นไม่ได้ต้องยอมเสียสโตก อย่าดื้อ เสียน้อยอย่าเสียยาก เสียมากเสียง่ายก็เข้าตามตำรานี้เลย กรณีนี้ก็ประกาศเป็นลูกเล่นไม่ได้จะดีกว่าเยอะ

กฎข้อ 28 ลูกที่ไม่สามารถเล่นได้
ผู้เล่นอาจประกาศว่าลูกของตนเป็นลูกเล่นที่ไม่สามารถเล่นได้ในที่ใดๆในสนาม ยกเว้นเมื่อลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ ผู้เล่นแต่ผู้เดียวเท่านั้นคือผู้ที่ตัดสินว่าลูกของตนนั้นเป็นลูกที่ไม่สามารถเล่นได้หรือไม่

ถ้าผู้เล่นถือว่าลูกของตนเป็นลูกที่ไม่สามารถเล่นได้ ผู้เล่นถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และต้อง

ก. เล่นจากจุดที่ใกล้ที่สุดจากจุดเดิมที่เล่นลูกไปครั้งสุดท้าย (ดูกฎข้อ 20-5) หรือ
ข. ดรอปลูกภายในสองช่วงไม้กอล์ฟจากจุดที่ลูกเดิมหยุดอยู่ และไม่ใกล้หลุมเข้าไปหรือ
ค. ดรอปลูกด้านหลังจุดที่ลูกอยู่ โดยเล็งด้านหลังลูกเป็นแนวตรงไปสู่หลุม และจะถอยหลังไปไกลเท่าใดก็ได้

ถ้าลูกที่ไม่สามารถเล่นได้อยู่ภายในบังเกอร์ ผู้เล่นอาจปฏิบัติตามข้อ ก. หรือข้อ ข. หรือข้อ ค. หากผู้เล่นเลือกที่จะปฏิบัติตามข้อ ข. หรือข้อ ค. ผู้เล่นต้องดรอปลูกในบังเกอร์ ผู้เล่นอาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้นภายใต้กฎข้อนี้

สองวันเกินได้ตั้ง 20 ทีมันยากตรงไหน?
น้ำลาย เมื่อก่อนผมก็เคยคิดและก็พูดอย่างนั้น แต่ตัวเลขเหล่านี้คือข้อมูลยืนยันด้วยตัวมันเอง จำนวนผู้เข้าสอบ (GI) ที่สนามกอล์ฟวอเตอร์มิลล์ ในวันที่ 15-16 มีนาคม 2554 สอบ GI 67 คน ผ่าน 17 คน และในการสอบวันที่ 17-18 มีนาคม 2554 สอบ GI 62 คน ผ่าน 6 คน

ปัญหาส่วนมากที่ผมได้สอบถามเพื่อนๆ พี่ๆ คำถามที่ผมมีแค่สองคำถาม

 “พี่ครับ ตื่นเต้นไหม?”

คำตอบที่ได้คือไม่ตื่นเต้นแล้วถามต่อ

”แล้วเมื่อคืนนอนกี่โมงและตื่นกี่โมง?”
นอนเที่ยงคืนบ้าง ตีหนึ่งบ้างแต่ก็เริ่มตื่นกันตั้งแต่ตีสาม อาการพักผ่อนไม่พอก็มีผลในวันถัดไป อะไรที่ไม่เคยเกิดมันก็เกิด แม้แต่ตัวผมก็เป็นทั้งสองวันระยะเหลือแค่ 50 หลา คือระยะหวังผลสำหรับผมคือ 1 คนธง แต่ผมก็ตีข้ามธงไปตกบังเกอร์ และอีกระยะที่ 100 หลา เป้าหมายอย่างแย่สุด 2 คันธง แต่ผมก็ตีข้ามกรีนไปอีก 20 หลา มีอยู่ซ็อตหนึ่งผมตีระยะ 110 หลา แต่รอยดิว็อทลึกประมาณ 3 นิ้วกว่าๆ แต่ผมไม่ตื่นเต้นนะครับ มันเป็นของมันเอง(ฮา)

ค่าใช้จ่าย
ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันสอบเสร็จ ผมออกรอบไปทั้งหมด 18 รอบ รวมสนามอื่นๆ ด้วยมีทั้งออกรอบในวันอาทิตย์ซึ่งมีค่ากรีนฟรีที่ค่อนข้างสูงเมื่อนำตัวเลขมารวมกันก็ประมาณ 36,000 บาท เป็นค่ากรีนฟี, แคคดี้, ทิปและค่าน้ำมัน ส่วนค่าซ้อมในสนามไดร์ฟ 10 อาทิตย์ 10,000 บาท ค่าอบรมกฎอีก 2,500 บาท ค่าสอบภาคสนาม 5,000 บาท และต้องจ่ายอีก 18,000 สำหรับการอบรมภาคทฤษฏี 6 วิชา






ค่าใช้จ่ายสำหรับผมในการเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อความเหมาะสมนั้นก็เริ่มที่ Driver TaylorMade R9 SuperTri 9.5 และใช้ก้าน Miyazaki C.Kua 59S ก้านตัวนี้ใช้เวลาปรับตัว 2 อาทิตย์ ชุดเหล็กเปลี่ยนใหม่ใช้ Callaway X Forged 09 Project X 5.0 Flighted ใช้เวลาปรับตัว 4 อาทิตย์ Putter TaylorMade Rossa TP Kia Ma Monte Carlo 33 ใช้เวลาปรับตัวแค่ 2 อาทิตย์ ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ เหมือนเดิม

In My Bag คลิกดูสเปกไปตาม link ได้เลยครับ

Driver : TaylorMade R9 SuperTri 9.5 Miyazaki C.Kua 59S
FairWay Wood : TaylorMade R9 TP Fujikura Motore F1 65S
Uitility : Adams Idea Pro 20, 23 Aldila Vs Proto 80S
Irons : Callaway X Forged 09 5-Pw Project X 5.0 Flighted
Wedge : Mizuno Black Satin MP T-10 52/07, 56/10, 60/05
Putter : TaylorMade Rossa TP Kia Ma Monte Carlo 33
Ball : Titleist Pro V1
 

ก่อนสอบเพื่อนผมย้ำนักย้ำหนา อย่านับสกอร์ของตัวเองอย่างเด็ดขาด เพราะจะเพิ่มความกดดันให้ตัวเองมากยิ่งขึ้นแต่มันก็แก้ยากเพราะต้องจดสกอร์ของตัวเองและเป็นมาร์คเกอร์ให้ท่านอื่นด้วย มันก็เห็นอยู่ตำตาจะให้แคดดี้จดผมก็ไม่ไว้ใจ แต่ผมก็ทำตรงกันข้าม วันแรกสกอร์ 37 41 ก็ได้ออกก๊วนสุดท้ายของวันที่สอง แต่ก็เห็นท่านอื่นๆ เก็บข้าวเก็บของกลับบ้านนึกแล้วก็อดที่จะเห็นใจไม่ได้ หลายๆ คนเป็นความหวังของอีกหลายๆ คน บางคนมีโครงการเปิดโรงเรียนสอนกอล์ฟในต่างจังหวัด ทั้งที่มาซ้อมกันเป็นเดือนหมดเงินไปกันเยอะมาก

พอวันที่สองก็ได้ออกฝั่งหลุม 1 ซึ่งในการซ้อมส่วนมากรอบนี้จะตีได้สกอร์ค่อนข้างดีแต่ในวันนั้นไดร์ฟเวอร์ตีได้ระยะดีมาก แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ สกอร์รอบนี้ได้ 42 ได้แค่ 3 พาร์ 6 โบกี้ แต่ก็เริ่มคิดอยู่ในใจตลอดเพราะแต้มเริ่มเหลือน้อยลง คงจะเหมือนการอยู่ในห้องแคบๆ แล้วอากาศหายใจเริ่มน้อยลงน้อยลง

เริ่มใหม่ที่ฝั่งหลุม 10 คิดอีกเหมือนกัน 9 หลุมเหลือตั้ง 8 แต้ม เมื่อก่อนครั้งที่เล่นเดิมพันตอนที่เริ่มเสีย ไม่ต้องคิดอะไรมากมันคือเกมส์ปลดหนี้ อย่าท้อ ตีไปเรื่อยๆ ไหนๆ ก็เสียแล้ว เจ็บอีกนิดไม่เห็นเป็นไร ผ่านหลุมสิบที่ได้พาร์ แล้วต่อด้วยหลุม 11 พาร์ 3 ตีเข้าไปเหลือไม่ถึงคันธง ได้เบอร์ดี้ จังหวะชีวิตมันเปลี่ยน เหลืออีก 7 หลุม แต้มยังเหลืออีกตั้ง 9 ก็เริ่มพลิ้วแล้วก็ตีมาจนถึงหลุม 18 พาร์ 5 แต้มยังเหลืออีกตั้ง 7 ซ็อต 3 ขึ้นอีก 100 หลา จากวันแรกที่เหลือระยะเดียวกัน ตีข้ามกรีนไปเลย โชคดีที่ลูกสั้นมั่วได้ใจชิพเหลือไม่ถึงคันธง ได้พาร์ แต่พอถึงวันสองก็คิดอีกเหมือนกันคงจะไม่เหมือนเมื่อวาน วันนี้จะเอาเบอร์ดี้ให้ได้ปกติระยะนี้มันของชอบเกินคันธงกว่าถือว่าแย่แล้ว ปรากฎว่าตีไปตกบังเกอร์อีก ก็งงๆ มันเกิดอะไรขึ้นถามตัวเองอีกครั้ง

ยังตื่นเต้นอยู่อีกเหรอ? ก็ใช้จุดแข็งอีกเหมือนกันระเบิดทรายมาไม่ถึงคันธงไม่คิดอะไรแล้วจะทำอีก 3-4 พัตต์ก็ยังผ่าน ได้พาร์ รอบนี้ก็เลยได้ 37 ทั้งสองวัน

คำพูดของหลายๆ คนที่ผมได้ยิน มันยากอะไร จะพูดสีดำเป็นสีขาวก็ได้ เพราะมีพี่ท่านหนึ่งใช้เวลาในการสอบครั้งนี้เป็นครั้งที่ 13 ในชีวิตถึงสอบผ่าน ไปลองด้วยตัวคุณเองแล้วจะรู้ว่าบรรยากาศมันสุดยอดครับ....

กว่าจะเป็น Single Handicap....

ติดตามเรื่องราวต่างๆ ได้ที่ FaceBook My7Golf
ต้องการสนับสนุนบทความคลิ๊กตรงนี้ครับ

19 comments:

  1. Anonymous6/4/11 09:54

    ขอบคุณนะครับสำหรับประสบการณ์ดีๆ ที่ไม่ได้หาง่ายมาเล่ากันให้ฟัง ชื่นชม และยินดีด้วยครับ

    ReplyDelete
  2. LeftOrRight6/4/11 12:12

    Thanks,ครับ โปรโจ้

    ReplyDelete
  3. Anonymous6/4/11 13:26

    ไม่ลองไม่รู้จริงๆ

    อ่านเรื่องการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าสู่สนามรบทำให้คุณโจ้ ได้เป็นโปรโจ้แล้ว

    เห็นถึงความตั้งใจมากมายที่ไม่ได้ออกมาเป็นตัวหนังสือบนนี้

    ยินดีด้วยอีกทีครับ

    FS-เล้ง

    ReplyDelete
  4. Anonymous6/4/11 15:59

    เยี่ยมครับ อ่านแล้วเห็นภาพ
    ในระยะเฉลี่ยการ drive ของพี่น่าจะ 250 หลาup นะครัฟ
    ค่าไช้จ่ายในการไป นีค่าสอบปฏิบัตนี้ประมาญ 5000 บาท
    รวมทั้งหมด แล้วแคดดี้สองวันเป้นคนเดียวกันเป่าครัฟ

    ReplyDelete
  5. ขอบพระคุณพี่ๆ ทั้งหลายที่ให้กำลังใจน้องคนนี้เสมอมาครับ...

    ในการสอบครั้งแรกมีค่าใช้ใช้จ่ายเบื้องต้นดังนี้

    1. ค่าอบรมกฎ 2,500
    2. ค่าสอบภาคปฏิบัติ 5,000 ไม่รวมค่ากรีนฟี+แคดดี้

    ส่วนการไปซ้อมก่อนสอบนั้นจะได้กรีนฟี+แดดดี้ =650 บาท
    ซึ่งต้องขอใบเสร็จกับทางสมาคม แล้วไปยื่นให้กับสนามทุกครั้งที่ไปเล่นจะได้ราคานั้นครับ

    ป้าแก ผมขอเรียกใจแกงาม ตามประสาคนบ้านนอกครับ..

    ReplyDelete
  6. Anonymous8/4/11 07:49

    ยินดีต้อนรับน้องใหม่ไฟแรง โปรป้ายแดงด้วยคนนะครับ
    มาตั้งเป้าหมายใหม่ ไปสอบทัวร์ริ่งกันดีมั๊ยครับ :-)

    Lion Stones

    ReplyDelete
  7. ขอบคุณครับพี่ปืนสำหรับคำแนะนำของพี่ช่วยน้องได้เยอะเลยครับ

    ไปครับ เป้าหมายเปลี่ยนแล้ว..

    ReplyDelete
  8. อุดมศักดิ์8/4/11 10:36

    ขอแสดงความยินดีกับโปรด้วยครับ เห็นถึงความพยายาม และเฝ้าจับตามองดูการเปลี่ยนแปลงผ่านหน้าเวปของคุณเกษมสันต์ ต้องยอมรับครับว่า เหมือนหนังซีรี่ส์เลยอ่ะ... คือ น่าติดตาม มีให้ลุ้น แถมได้มุมมองครบด้าน...

    ขอเป็นกำลังใจให้ด้วยครับ... ว่าแต่ถ้าเปิดสอนเมื่อไหร่ วานบอกด้วยครับ จะตามไปเป็นลูกศิษย์คนแรกๆ ครับ

    อุดมศักดิ์

    ReplyDelete
  9. ขอบคุณครับคุณอุดมศักดิ์ ผมเกษมสุข ครับ
    สอนการสอนนั้นก็จะมีช่วงฝึกงาน 144 ชั่วโมง
    ปัญหาน่าจะเจอเยอะมากในหลายๆ คน หลายๆ วงสวิง
    คงต้องเรียนรู้อีกเยอะเลยครับ

    ReplyDelete
  10. คุณดึก2/5/11 11:00

    แจ๋วจริงครับ โปรโจ้ :)

    ReplyDelete
  11. Anonymous2/5/11 16:08

    เยี่ยม...

    ReplyDelete
  12. Anonymous2/5/11 19:09

    ดีใจด้วยครับ

    คุ้มค่ากับความมุ่งมั่น

    tcbc

    ReplyDelete
  13. ดีใจๆๆๆๆๆๆๆ เจอพี่โดยไม่ได้นัดหมาย โอเองนะพี่ ขอบคุณครับ พี่โจ้ผู้ที่ทำให้ทุกคนยิ้มได้ในวันสุดท้าย :)

    ReplyDelete
  14. อ่านแล้วน่าติดตามมาก สนุกจริๆครับโปร

    ReplyDelete
  15. S Wedge TM 52,5826/4/12 00:04

    เรื่องดีๆเรื่องหนึ่งในชีวิตผู้ชาย ที่จะเป็นเรื่องราวติดอยู่ในใจของคนๆนั้นไปจนชั่วชีวิต
    ยินดีด้วยกับความสำเร็จของก้าวนี้นะครับ

    ReplyDelete
  16. หาตังก่อน จะไปสอบบ้างครับ

    ReplyDelete
  17. สุสยอดครับโปร.......

    ReplyDelete
  18. ขอบคุณที่แชร์ประสบการณ์ครับ

    ReplyDelete
  19. ขอบคุณที่แชร์ประสบการณ์ครับ อ่านแล้วได้บรรยากาศความกดดันเลยครับ

    ReplyDelete